วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

บุคคลสำคัญ


หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ประวัติ
หม่อมหลวงปิ่นเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ณ บ้านถนนอัษฎางค์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 6 ใน 13 คน ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (เสงี่ยม มาลากุล ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม วสันตสิงห์)) ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 8 คน ได้แก่
  • หม่อมหลวงปก มาลากุล
  • หม่อมหลวงป้อง มาลากุล
  • หม่อมหลวงเปนศรี มาลากุล
  • หม่อมหลวงปนศักดิ์ มาลากุล
  • หม่อมหลวงปอง เทวกุล (สมรสกับหม่อมเจ้าสุรวุฒิประวัติ เทวกุล)
  • หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
  • หม่อมหลวงเปี่ยมสิน มาลากุล
  • หม่อมหลวงปานตา วสันตสิงห์ (สมรสกับนายเมืองเริง วสันตสิงห์)

ประวัติการศึกษา

ปี พ.ศ. 2450 เมื่อหม่อมหลวงปิ่นมีอายุได้ 4 ขวบ ท่านได้เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับครูแฉล้ม (แฉล้ม คุปตารักษ์) ต่อมาได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ณ สมัยนั้นเป็นโรงเรียนวัดราชบูรณะ) และต่อมาในปี พ.ศ. 2457 หม่อมหลวงปิ่นก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนอีก แต่ปลายปีนั้นก็ยังคงมาสอบไล่และสามารถสอบผ่านชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งทำให้เลื่อนไปเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็ไม่ได้มาเรียนหรือมาสอบอีกเลย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ จึงออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยไปเข้าเรียนที่ The School of Oriental and African Studies, University of London (SOAS) หรือวิทยาลัยบูรพศึกษาและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน และได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต แล้วได้ย้ายไปศึกษาต่อที่คณะบูรพคดีศึกษา (Faculty of Oriental Studies) สถาบันตะวันออกของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประสบความสำเร็จโดยได้ปริญญาตรี (B.A.) เกียรตินิยมสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกภาษาบาลีและสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2471
ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจน สำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านสังกัดวิทยาลัยบเร๊สโนส (Brasenose College) และในปี พ.ศ. 2498 ท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นแรก)

รับราชการ

ในปีพ.ศ. 2455 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาได้เป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียนกรมวิชาการ อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2474 ในปีพ.ศ. 2475 เป็นอาจารย์โท อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังในปีพ.ศ. 2477 อีกด้วย หม่อมหลวงปิ่นได้เป็นอาจารย์เอก อันดับ 1
ต่อมาในปีพ.ศ. 2480 ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการท่านแรก 5 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่งอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2487 ท่านได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเป็นที่ปรึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและทำงานในหน้าที่เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. 2489 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2496 ท่านได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมวิชาการ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2497 ได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมการฝึกหัดครู รักษาการอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 ถึง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

บั้นปลายชีวิต

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ท่านได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติจากองค์การยูเนสโกยกย่องท่านเป็น "นักการศึกษาดีเด่นของโลก ในสาขาวรรณกรรมและสื่อสาร" ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเตรียมอุดมทุกคน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อันเชิญรูปปั้น ฯพณฯ ศ.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จากหอวชิราวุธานุสรณ์ มาประดิษฐาน ห้อง 57 ตึก 1 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2545
ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของ ฯพณฯ ศ. ม.ล. ปิ่น มาลากุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึง ดำริที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่าน นับแต่นี้ต่อไปก็จะมีเพียงการสานต่อแนวความคิดของ ฯพณฯ ให้ปรากฏเป็นผลสมเจตจำนง อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของเยาวชน และสังคมไทยตลอดไป




บุคคลต่างชาติที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย

 

ฟ. ฮีแลร์

ฟ.ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ เป็นศาสนนามของ ฟรังซัว ดูเวอเนท์ (ฝรั่งเศส: Fronçois Touvenet) ฟ.มิได้ย่อมาจากนามเดิม หากย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส frère ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother ซึ่งบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย เจษฎาจารย์ หรือ ภารดา นั่นเอง
ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่ตำบลจำโปเมีย เมืองบัวเตียร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นที่ตำบลบ้านเกิด จนอายุได้ 12 ปี ความศรัทธาในพระศาสนาได้บังเกิดขึ้นในดวงจิตของท่าน ใคร่จะถวายตนเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ขออนุญาตบิดามารดาเข้าอบรมใน ยุวนิสิตสถาน (Novicate) ในคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมืองซังลอลังต์ ซิว แซฟร์ ในมณฑลวังเด เพื่อร่ำเรียนวิชาลัทธิศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ อันควรแก่ผู้จะเป็นเจษฎาจารย์ จะพึงศึกษาจนสำเร็จ แล้วจึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้า สมาทานศีลของคณะเซนต์คาเบรียล บรรพชาเป็นภารดาเมื่ออายุได้ 18 ปี เพื่อให้ความรู้ในทางศาสนาได้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากบรรพชาแล้วก็ได้เดินทางไปที่เมืองคลาเวียส์ เพื่อศึกษาปรัชญาฝ่ายศาสนาอีกระยะหนึ่ง ในขณะเมื่อท่าน ฟ.ฮีแลร์ ถือกำเนิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศสมาจนถึง ค.ศ. 1885 ซึ่งมีอายุได้ 4 ขวบเศษ ๆ นั้นประเทศไทย บาทหลวงเอมิล โอคุสติน กอลมเบต์ ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้น ในกรุงเทพฯ และได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาด้วยดี จนถึง พ.ศ. 1900 บาทหลวงกอลมเบต์ ก็ได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นการพักผ่อนและเพื่อเสาะแสวงหาคณะอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนมา รับหน้าที่ปกครองดูแลรักษาโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป
ในการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในครั้งนั้น บาทหลวงกอลมเบต์ได้ไปพบท่านอธิการใหญ่ของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เมืองแซนต์ลอลังต์ และได้เจรจาขอให้เจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียลได้รับปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญแทน คุณพ่อกอลมเบต์ ต่อไป ซึ่งทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ตอบตกลงด้วยดี และได้มอบให้เจษฎาจารย์ 5 ท่าน เดินทางมารับภารกิจนี้ โดยมีเจษฎาจารย์มาร์ติน เดอตูรส์ เป็นประธาน เจษฎาจารย์ออกุสแตง คาเบรียล อาเบต และ ฟ.ฮีแลร์ เป็นผู้ร่วมคณะ ในจำนวน 5 ท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นคนหนุ่มที่สุดมีอายุเพิ่งจะย่างเข้า 20 เท่านั้นทั้งยังเป็นเจษฎาจารย์ใหม่ที่เพิ่งอุทิศตนถวายพระผู้เป็นเจ้าในปี ที่เดินทางเข้ามานั้นเอง
เจษฎาจารย์คณะนี้ออกเดินทางฝรั่งเศส โดยลงเรือที่เมืองมาร์เชย์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1901 ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นหนึ่งเดือนกับ 2 วันจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ศกเดียวกันนั้น เรือก็มาถึงกรุงเทพฯ เข้าเทียบท่าห้างบอร์เนียว พอขึ้นจากเรือคุณพ่อแฟร์เลย์มาคอยรับอยู่แล้ว อีกครู่เดียวก็มาถึงอัสสัมชัญ นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ท่านย่างเหยียบผืนแผ่นดินไทยในวันนั้นนับได้ว่า ประทีปดวงหนึ่งซึ่งหล่อหลอมด้วยวัตถุธาตุอันวิเศษสุดจากอัสดงคตประเทศ บัดนี้ได้จาริกมาสู่สยามแล้ว พร้อมที่จะฉายแสงอันเรืองรองให้ปรากฏขึ้นเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั้งมวล
หลังจากร่ำเรียนวิชาทางลัทธิศาสนาวิชาครูและวิชาอื่นๆ จนสำเร็จแล้ว จึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้า ปฏิบัติข้อผูกมัดตนของคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล เป็นภราดาเมื่ออายุ 18 ปี และเมื่อได้ถวายตัวเป็นภราดาแล้ว เจษฎาจารย์ฮีแลร์ก็ได้วัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างเคร่งครัด สมกับเป็นผู้ทรงศีลยังปรัชญาชีวิตดำเนินในฐานะนักพรตที่รักความสันโดษ และพยายามทำตนเป็นแบบอย่าง สมกับความเป็นครูทุกประการ เมื่อคณะของบรรดาเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ต้องรับผิดชอบดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศไทยต่อจากบาทหลวงกอลมเบต์นั้น ฟ.ฮีแลร์ ผู้ซึ่งมีวัยเพียง 20 ปี นับเป็นคนหนุ่มที่สุดในคณะส่วนหัวหน้าคณะในครั้งนั้นคือ เจษฎาจารย์มาแตง เดอร์ตูร์สเมื่อ แรกเข้ามาเมืองไทย เจษฎาจารย์ฮีแลร์ เห็นจะหนักใจมากกว่าผู้อื่นในคณะ ด้วยอายุที่ยังน้อย และภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่อง ภาษาไทยยิ่งไม่ถนัด ยิ่งไปกว่านั้นตรงที่บาทหลวงกอลมเบต์ต้องรักษาตัวที่ฝรั่งเศส ยังกลับมากรุงเทพฯ ไม่ได้
หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในเบื้องต้นก็คือการสอนภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันนั้นท่านก็ศึกษาภาษาไทยไปด้วยโดยมีท่านมหาทิม เป็นครู กล่าวกันว่าการเรียนภาษาไทยของท่านนั้นเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก พระยามไหศวรรย์เคยเขียนถึงท่านว่า สำหรับ ข้าพเจ้าคาดว่าครูฮีแลร์เห็นจะเรียนหนังสือไทย ภายหลังข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่อยากพูดถึงการเรียนของเด็กพวกเรานั้นจะมีมานะหมั่นเพียรเทียบ กับครูฮีแลร์ได้อย่างไร ท่านเรียนไม่เท่าไร เกิดเป็นครูสอนภาษาขึ้นมาอีก
ด้วยความตั้งใจจริง ท่านจึงพยายามฟังเด็กไทยท่อง มูลบทบรรพกิจอยู่เป็นประจำ ถึงกับหลงใหลจังหวะจะโคนและลีลาแห่งภาษาไทย เกิดมุมานะเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงแต่งตำราสอนเด็กได้ และตำราที่ว่านั้นก็คือดรุณศึกษานั่นเอง จากฝีไม้ลายมือในการแต่งหนังสือของท่านนั้น ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดเชิญเข้าเป็นสมาชิกของ สมาคมวรรณคดี เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2475 ราชบัณฑิตสภา
เนื่องจากท่านมีความรู้ภาษาไทยดีกว่าเจษฎาจารย์องค์อื่นประกอบกับมี บุคลิกลักษณะน่าเกรงขาม หนวดเครางดงามกิริยาท่าทางที่แสดงออกก็ดูดุดันน่ากลัวหาน้อยไม่ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ผู้ปกครองอีกตำแหน่งหนึ่ง และก็ดำรงตำแหน่งนั้อยู่เป็นเวลานาน
ในเรื่องของการสร้างตึกเพื่อขยายสถานศึกษานั้น ท่านพบอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะในช่วงขัดสนเงินทอง จะเรี่ยไรค่อนข้างยากลำบาก อาศัยวิธีกู้เงินจากผู้ปกครองนักเรียน คือ ใครอุทิศเงินให้โรงเรียนหนึ่งหมื่นบาท บุตรจะเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเลย จนกว่าจะจบหลักสูตรวิธีการเช่นนี้ ทำให้มีการครหานินทาว่าโรงเรียนอัสสัมชัญเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะอยู่ในสมัยนั้นนานทีเดียว
ในช่วงหลังสงครามโลก ชีวิตการงานของท่านดูจะไม่เหมือนเดิม ด้วยชีวิตที่รีบเร่งเกินไป เมืองไทยเปลี่ยนไปเร็วนักสำหรับท่าน คนโกงมากขึ้น คนไม่รับผิดชอบต่อการงานมากขึ้น ท่านเริ่มรู้สึกเหนื่อยและเบื่อหน่าย จนกระทั่งตอนเห็นพิธีเปิดหอประชุมสุวรรณสมโภช มีทั้งผู้ใหญ่และเพื่อนเก่า เช่น เจษฎาจารย์ไมเกิล ได้เดินทางจากประเทศอินเดียมาร่วมงานด้วย ท่านจึงรู้สึกว่า คุ้มเหนื่อยหลังจากนั้นไม่ถึงปี ท่านก็ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึงกับต้องส่งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เข้าใจกันว่าท่านคงจะไม่ฟื้นแล้ว เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ให้เกียรติมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลียองดอนเนอร์ให้ท่าน
ระหว่างที่เป็นโรคชรามีอาการหลงลืมและมีอาการน่าเป็นห่วงหลายครั้ง แต่ท่านก็มีอายุมาถึง 87 ปี แล้ววาระสุดท้ายของท่านก็มาถึงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2511 ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ว่า เส้นโลหิตฝอยแตก ศิษยานุศิษย์ได้เชิญศพมาตั้ง ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช โดยมีท่านอัครสังฆราช ทำพิธีมหาบูชามิสซา ปลงศพเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปีเดียวกัน